การเดินทางของคนเปลี่ยนสาย

Mizusora
3 min readAug 23, 2020

Developer -> Master Degree -> UX -> Analyst

เผื่อใครยังไม่รู้ เราเปลี่ยนสายงาน “อีกแล้ว” 5555+
ไหนๆก็เปลี่ยนไปๆมาๆเป็นว่าเล่นอยู่ละ เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังกัน :)

Disclaimer: ทั้งหมดในบลอคคือประสบการณ์ส่วนตัว และมุมมองส่วนตัว มันไม่ได้ถูกต้อง 100% แน่ๆ เราอยากแชร์เพื่อให้ใช้อ้างอิง แต่ไม่ได้แนะนำให้ทำตามนะ 😆

Take a chance to make a change (Photo from Pexels)

Start as a dev

จุดเริ่มต้นแรกสุด จากคนที่จบคณะซอฟต์แวร์ ก็ต้อง Developer น่ะสิ! สมัยที่ยังมี Native Android Dev ราวๆ 6 ปีที่แล้วได้ 5555+ ก็เป็นเด็กธรรมดา เรียนรู้ไปพลาง พัฒนาตัวเองไปพลาง ตัวเราชอบการเขียนโค้ดนะ เราสนุกกับ logic ต่างๆแล้วรู้สึกดีเวลาที่โค้ดเราเวิร์ค จนถึงปัจจุบันนี้ ถ้ามีคนถามโมเมนต์การทำงานที่เราแฮปปี้ที่สุด เราก็ยังจะตอบว่าเป็นตอนนึงในฐานะ dev ที่เรา figure out algebra ตัวนึงขึ้นมาแล้วปรับใช้เข้ากับ logic ในโค้ดจนมันสำเร็จ ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะเปลี่ยนสายงานไปไกลแล้ว ก็ยังไม่เจออะไรที่รู้สึกดีได้เท่าตอนนั้นเลยจริงๆ

แต่ก็นั่นแหละ พอทำมาปีนิดๆ เราก็ตกผลึกกับตัวเองได้ว่าเราไม่สามารถเขียนโค้ดได้ตลอดชีวิต คือพออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งๆอะ เราจะเริ่มเห็นเค้าคุยกันเรื่อง framework ใหม่ๆ structure ใหม่ๆ ซึ่งเราไม่อินและไม่เข้าใจ สำหรับเรา การอัพเดทข่าวสารในวงการคืออีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการเติบโตในสายงาน ซึ่งพอเรารู้ตัวว่าไม่ได้อินแบบลงลึกขนาดนั้น เราก็เริ่มหา plan B ให้ตัวเอง

ตอนนั้น UX เพิ่งเกิดในไทย ยังแบเบาะอยู่ เราเข้าใจแค่ว่ามันคือการผสานระหว่าง Technology และ Design ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจทั้งคู่อยู่แล้ว (ถ้าเทียบตอนไถฟีดเฟสบุ๊ค เราจะอ่านข่าวไอเดียเบื้องหลัง Design มากกว่าข่าว Framework ใหม่ๆ) ก็เลยว่าจะลองลุยดู แต่ก็นั่นแหละ เรารู้ตัวว่าตัวเองไม่ใช่คนขยันมากพอที่จะรับงานนอก ทำโปรเจค ปั้นพอร์ทต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสายงานแบบเต็มตัว ทางออกเท่าที่เด็กจบใหม่ในตอนนั้นคิดได้ ก็เลยไปตกลงที่ออฟชั่น “การเรียนต่อ”

Back to school นะครัช (Photo from Pexels)

Master for non-master

ถึงจะบอกว่าการเรียนต่อเป็นทางออกที่ง่ายก็เถอะ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ขนาดเราเป็นคนเอาเงินไปจ่ายค่าเล่าเรียนเอง บางคณะก็ยังไม่อยากรับเราเข้าไปเลย 555555+ ป.โทอะเนอะ บางคณะมันคือการต่อยอด เพราะงั้นถ้าเราไม่มีฐานความรู้เดิมให้ต่อ เค้าก็ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ 😢 เราใช้เวลาหาๆอยู่ซักพักจนเจอคณะที่สอนเกี่ยวกับ Innovation ซึ่ง key สำคัญของเค้าคือ Innovation = Technology + Design + Business เพราะงั้นเค้าจึงรับคนจากทั้งสามสาขา หรือสาขาอื่นใดเข้ามา ทำให้การเรียนรู้ต่อยอดนั้นเกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างนักเรียน (ปล. เราไปเรียนที่ญี่ปุ่น เรียนภาคภาษาอังกฤษ ก็จะได้เรียนรู้ความหลากหลายจาก nation & culture มาเพิ่มเติม)

แต่ก็นั่นแหละ (บลอคนี้น่าจะมีคำว่าแต่เยอะมากแน่ๆ lol) คณะที่รับคนหลากหลาย หลักสูตรก็อาจจะจับฉ่ายพอประมาณ คือมันมีตั้งแต่ group discussion พยายามสร้าง innovation ใดๆมาแก้ปัญหา, Design Thinking ฉบับอยู่ในกรอบเป๊ะๆตามสไตล์ญี่ปุ่น ไปจนถึงคอร์สเบสิคของการเขียนโปรแกรม/การทำ Digital Media, หรือแม้กระทั่ง Otaku Culture (ที่อาจารย์คอสเพลย์มาสอนทุกคาบ..) สิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์กับงาน UX ในอนาคตที่เราคาดหวังไว้ก็คือการทำ Thesis ที่เราได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการสร้าง product ใหม่ๆมาแก้ pain point ที่มี บวกกับการทำ research ทั้ง quantitative & qualitative เพื่อนำผลมาพิสูจน์ไอเดียของตัวเอง

พอส่งธีสิสเสร็จแล้ว 2 เดือนที่เหลือก่อนกลับไทยเราก็ค่อนข้างล่กพอประมาณ เพราะไม่รู้สึกว่าธีสิสในมือมันจะมากพอไปยื่นสมัครงานสายใหม่ได้ ก็เลยเพิ่ม skill UX ตัวเองด้วยบลอค Medium เนี่ยแหละ ตอนนั้นตั้งเป้าว่าอ่านบลอคทุกวัน เขียนบลอคทุกวีค (ใช่ค่ะ มันคือจุดกำเนิดของบลอคนี้) พยายาม conclude ความรู้ที่ตัวเองหามา ทำ Design breakdown บ้าง ออกแบบแอปใหม่แล้วเทสกับเพื่อนๆเพื่อจำลองการทำงานให้ครบ flow บ้าง พอกลับไทยก็เอาสองอย่างนี้แหละ เป็นอาวุธไปหางาน UX

งาน Design ชิคๆ (Photo from Pexels)

UX Designer for a startup

ที่แรกที่เราเข้าทำงานคือ บ.Startup เล็กๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าในการเปลี่ยนสายงาน บ.แนวนี้จะเข้าได้ง่ายกว่า เพราะคุยกันง่าย ต่อรองง่าย คู่แข่งน้อย แลกด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่น้อยตาม (เอาจริงตอนแรกเตรียมใจไว้แล้วด้วยซ้ำว่าเงินเดือนจะน้อยกว่าตอนเป็น dev 😂) แต่ก็เป็นสนามฝึกฝีมือที่ดี ได้ลองทำอะไรหลายๆอย่างจากความยืดหยุ่นของบ.

แต่ (เราจะเริ่ม paragrah 2 ของทุก session ด้วยแต่ไม่ได้..) แต่ๆๆๆ พอได้ทำงานจริงๆ เรารู้สึกว่าเราทำงาน Design ได้ไม่สวยอะ 5555555 คือเรามีพื้นฐานด้าน Dev ทำให้ข้อดีของงานเราคือการเจรจาและ flexibility กับทีม dev และการรับประกันว่า design นั้นทำได้จริง ส่วนข้อเสียก็คือ บางครั้งเรายึดติดกับ feasibility จนเกินไป บางครั้งความรู้เราก็ outdate ไปแล้ว ทำให้งานที่ออกแบบมามันไม่ได้ออกนอกกรอบขนาดนั้น แล้วพื้นฐานด้านการดีไซน์ พวกทฤษฎีสีหรือ typography เราก็ยังไม่แม่น ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่างานตัวเองสวยซักเท่าไหร่

ตอนนั้นงาน UX เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่านอกจาก UX Design แล้วยังมี UX Research ด้วย ก็เลยอยากลองย้ายไปทำตรงโซนนั้นดู เพราะคิดว่าอาจจะได้ใช้พวก analytical skill ที่ตัวเองพอมีของอยู่บ้าง แต่การจะทำ Research ใน Startup ที่ไม่ได้มีงบ มี user จริงจังก็เป็นเรื่องยาก เลยต้องย้ายไปบ.ที่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่านี้แทน

มาค่ะ มาตบกับ Buisness กัน lol (Photo from Pexels)

UX Research for a corporate

การย้ายงานที่ต่อจากสายงานเดิม ทำให้เรา “มีของ” ในตัวเองอยู่พอประมาณ ถึงแม้เราจะยังไม่ได้รู้อะไรมากด้าน UX Research แต่เราสามารถเอาสกิล UX Design ที่บริษัทต้องการมาเป็นตัวแลกเปลี่ยนได้ อีกหนึ่งข้อดีของบ.ใหญ่คือมีคนเก่งๆมากมายอยู่มาก่อนเราแล้ว เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตามเค้าไปได้เลย ซึ่งก็ขอบคุณมากๆกับโอกาสดีๆหลายอย่างที่ได้รับในตำแหน่งนั้น

อะ รอคำว่าแต่กันใช่มะ ไปจ้ะ 😂 แต่ๆๆ พอเราได้ทำ Research จริงๆ ก็อีกนั่นแหละ เราก็ยังพบ pain บางอย่างในตัวเรา ทั้งๆที่บริษัทมี internal user ที่เราสามารถ reach หาได้ตลอดเวลา กลับเป็นที่ตัวเราเองที่ไม่ได้ comfortable มากพอจะเข้าหาคนอื่นขนาดนั้น ประกอบกับอีก 1 major pain point ที่ได้พบจาก product ที่ยิ่งใหญ่มากๆตามไซส์บริษัท คือไม่ว่าเราจะเสนออะไรไปตามความรู้ UX ที่เรามี 80% คือโดนฝั่ง Business ที่เป็น Key person ตบกลับมาว่ามันทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถึงเราจะเห็นว่า Design ตรงนี้ทำให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้า user ฝั่งเอเชียกับฝั่งยุโรปใช้งานกันคนละแบบ เราก็จะต้อง maintain Design แบบเดิมที่ตอบโจทย์ได้ทั้งสองฝั่ง เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเองยังไม่ได้เข้าใจ product และ user ได้ครอบคลุมขนาดนั้น เวลาครึ่งปีมันยังไม่มากพอที่เข้าใจมันทั้งหมดจริงๆ

เกริ่นก่อนว่าก่อนเราจะย้ายมาเป็น UX Research เราก็เริ่มถามตัวเองแล้วแหละ ว่า UX คืองานที่ใช่สำหรับเราจริงๆรึเปล่า แล้วถ้าไม่ใช่ เราจะหา plan B ต่อไปยังไงดี ปัจจัยนึงที่ทำให้เราเลือกมาอยู่บ.ปัจจุบันนี้ก็เพราะว่าเค้ามีระบบเปลี่ยนงานทุก Cycle ทำให้คนๆนึงสามารถหมุนเวียนไปเรียนรู้เรื่องต่างๆได้มากมาย ซึ่งสำหรับเรามันฟังดูเป็นทางออกที่ดีถ้าเราอยากเปลี่ยนทางเดิน พอเราเริ่ม Struggle กับปัญหาใน Role ล่าสุด เราก็แอบไปเปรยๆเบิกทางกับซุปตัวเองไว้ก่อน แต่ก็ตั้งใจว่าจะรอดูซักปี เผื่อว่าพอรู้อะไรๆมากขึ้นจะเห็นอะไรชัดขึ้น

เผอิ๊ญญญญ หลังจากเฟรยกับซุปไปไม่นาน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัท มีการ relocation พนักงานมากมาย กับเราที่ใจตัวเองสั่นคลอนไปเล็กน้อยแล้ว เลยมองเห็นตรงนี้เป็นโอกาส ยกมือบอกซุปทันที หนูอยากย้ายทีมค่าาาาา!!

Another stepping stone

การเปลี่ยนสายครั้งที่สอง เอาจริงก็ถามตัวเองบ่อยเหมือนกันนะ ว่าคิดถูกมั๊ย คิดตื้นไปมั๊ย เหลาะแหละไปรึเปล่า เท้าที่ก้าวออกไปมันคือเดินไปข้างหน้าจริงๆใช่มั๊ย? แล้วอะไรคือ passion ที่เราเฝ้าตามหา เคยเฟลถึงขั้นที่ว่ายืนตกผลึกกับตัวเองตอนซื้อโตเกียวว่า คนขายโตเกียวก็ไม่ได้มี passion ในการทำโตเกียวทุกคนปะวะ? ถ้าเค้าตั้งเป้าหมายว่าจะมีเงินเลี้ยงดูครอบครัว จะขายโตเกียวหรือขายหมูปิ้งก็อาจจะไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ แล้วถ้าเราไม่ได้ตั้ง goal ว่าจะต้องเจอ passion ถ้าสิ่งที่เราต้องการจริงๆเป็นเพียงแค่สนุกในการทำงาน ก้าวหน้าในการทำงาน career goal ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งแสงจากปลายอุโมงค์ก็ได้ การที่เราหาตัวเองไปเรื่อยๆ ค่อยๆแก้ปมไปทีละจุด plan checkpoint ข้างหน้าไว้สองสามอัน แล้วปล่อยให้หัวใจเป็นเข็มทิศชี้นำทางไป ก็อาจจะเพียงพอแล้วก็ได้

ปล. อีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากการตกผลึกครั้งนี้ คือ TED talk อันนี้:

Role ปัจจุบันของเราคือ Business Analyst เป็นตำแหน่งที่เราสามารถต่อยอดความรู้ทั้งด้าน Dev และ UX ของเราได้ เป็นตำแหน่งที่เราสามารถแก้ pain point ของตัวเองที่ไม่รู้เรื่อง Business process ใดๆได้ เป็นตำแหน่งที่เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ เป็นตำแหน่งที่เรารู้ว่าเราจะได้อะไร ส่วน checkpoint ข้างหน้า มีวาง option หลวมๆทั้ง Product Owner และ Data Analytic แต่ก็นั่นแหละ ยังคงต้องเรียนรู้และเก็บข้อมูลไปอีกซักพัก และแม้ว่าตำแหน่งนี่เราจะมองมันเป็นเพียงแค่อีก 1 stepping stone ที่ตัวเองต้องมาเก็บของเพื่อตามหาตัวเองต่อไป เราก็จะทำมันให้เต็มที่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยู่ดีๆอาจจะ spark joy ขึ้นมา หรืออาจจะได้ค้นพบทางเดินใหม่ที่คาดไม่ถึงเลยก็เป็นได้

เพราะงั้น ในอนาคตไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะอ้าแขนรับมัน :)
(นอกเรื่องจากการเปลี่ยนสายไปไกลรึเปล่านะ lol)

ปล่อยให้หัวใจเป็นเข็มทิศชี้นำทางไป (Photo from Pexels)

สรุป

ในการเปลี่ยนสายทั้งหมดที่เดินทางมา มี core ideas อยู่ไม่กี่อันสำหรับเรา:

  1. หา pain ให้เจอ
    ถ้ารู้สึกว่าไม่ชอบงานที่ทำอยู่ คุยกับตัวเองเยอะๆ ถามให้นานพอจนมั่นใจว่าความรู้สึกของเราเป็นของจริง ถามให้ลึกพอจนรู้ว่า root cause ของมันคืออะไร
  2. ลองทำตามซัก solution(s)
    ถ้ามั่นใจในปัญหาแล้ว ลองหาทางแก้ไขดู พิจารณาว่าของในมือเรามีอะไรไปแลกกับ solution นั้นๆ ถ้าของยังมีไม่พอ ไปฟาร์มของซะ ถ้ามีของพอแล้ว ก็โกๆ บางครั้งทางออกอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนสาย แต่เป็นการแก้ปัญหาบางอย่างที่ทำให้เราไม่พอใจในสถานะปัจจุบัน
  3. Checkpoint กับตัวเอง
    ไม่ว่าจะตอนหาปัญหา ตอนหาทางแก้ หรือตอนที่ลงมือแก้ไขปัญหา คอยคุยกับตัวเอง เช็คกับตัวเองบ่อยๆ การหลงทางเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกการเดินอ้อมจะไม่มีเสียเปล่า คุณไม่มีทางรู้ว่าคุณจะได้ใช้ของที่มีในมือตอนไหน
  4. อย่า rush จนเกินไป
    สำหรับเรา ช่วงเวลาในการ confirm pain point ของตัวเองที่ดีคือประมาณ 6 เดือน ส่วนเวลาในการแก้ไขปัญหาจะหลากหลายกันไปตามสเกล แต่สิ่งที่บอกตัวเองบ่อยๆคืออย่ารีบ บางครั้งเรารู้ว่าเราอยากได้ดาบ เราก็อาจจะต้องเก็บเหล็กเก็บหินไปก่อน จนกว่าจะถึงวันที่เราแข็งแกร่งพอที่จะหลอมดาบจากวัตถุดิบเหล่านั้น เพราะงั้น อย่ากดดันตัวเอง (ย้ำกับตัวเองรอบที่ล้าน แงงงง)

และนั่นคือทั้งหมดของบลอคในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กันนะคะ

ถ้ามีอะไรอยาก discuss เพิ่มเติมก็เม้นมา ทักมาได้ ยินดีแลกเปลี่ยนกัน :)

--

--